วันที่ 23 กรกฏาคม 2561 ที่ตำบลทุ่งแต้ อำเภอเมือง จ.ยโสธร พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตรวจเยี่ยมศูนย์ดิจิทัลชุมชน และโครงการเน็ตประชารัฐ ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขับเคลื่อนและติดตามความก้าวหน้าของศูนย์ดิจิทัลชุมชนและการใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประชาชนมากขึ้น โดยมี นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมตรวจเยี่ยมในครั้งนี้
พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า
เพื่อติดตามการขับเคลื่อนและความก้าวหน้าตามนโยบายของรัฐบาล โดยจังหวัดยโสธรเป็นหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีข้าวหอมมะลิเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่มีการเพาะปลูกมากที่สุด เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศสามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดจำนวนมาก ทั้งนี้ การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ตามโครงการเน็ตประชารัฐของรัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ได้มีการขยายติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในหมู่บ้านของทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดยโสธรที่ได้ติดตั้งแล้วจำนวน 290 หมู่บ้าน จะเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้จังหวัดขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยการผลักดันให้มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัด สร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน การขยายพื้นที่ และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค้าให้กับผลิตผลทางการเกษตรให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพิ่มช่องทางการตลาดด้วยการส่งเสริมการทำธุรกิจออนไลน์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) ด้วยการเปิดให้บริการอี-คอมเมิร์ซระดับชุมชนที่จะครอบคลุมทั้งการชำระเงินและระบบการจัดส่งสินค้า Logistic ให้กับจังหวัดยโสธรให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ปัจจุบัน กระทรวงดิจิทัลฯ ได้รับมอบหมายเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลคือ การสร้างการรับรู้เน็ตประชารัฐแก่ประชาชนให้เกิดความรู้ ความเข้าใจขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างรู้เท่าทัน คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับบริบทของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ โดยที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้จัดกิจกรรมการสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์โครงข่ายและส่งเสริมการใช้งานเน็ตประชารัฐ โดยจัดอบรมวิทยากรแกนนำ คุณครู กศน. จำนวน 5 รุ่น รวม 1,031 คน พร้อมจัดอบรมให้กับผู้นำชุมชน จำนวน 100,446 คน ให้เป็นเครือข่ายช่วยแนะนำให้รู้จักและใช้เน็ตประชารัฐ และเพื่อให้กระจายครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้นในปี 2561 กระทรวงฯ จะสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยกระทรวงฯ ได้อาศัยความร่วมมือจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการจัดกิจกรรมอบรมการใช้งานเน็ตประชารัฐ เพื่อขยายผลการสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐไปสู่ประชาชนใน 24,700 หมู่บ้าน เป้าหมายจำนวน 1 ล้านคน โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือน กันยายน 2561 รวมถึงกระทรวงฯ จะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ work shop ในเชิงลึกให้กับประชาชนผู้สนใจ ผู้ประกอบการ และกลุ่มอาชีพในหมู่บ้านเน็ตประชารัฐที่มีความพร้อม อย่างน้อยจังหวัดละ 1 ครั้ง
นอกจากนี้ เพื่อประเมินผลสำเร็จของโครงการเน็ตประชารัฐ กระทรวงฯ โดยสถิติจังหวัดยโสธรได้ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสอบถาม/สัมภาษณ์กำนัน/ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่หมู่บ้านที่มีการติดตั้งเน็ตประชารัฐ จำนวน 290 หมู่บ้านเมื่อ 21-30 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา และรวมถึงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโครงการเน็ตประชารัฐทั้ง 290 หมู่บ้าน ๆ ละ 105 คน โดยมีครัวเรือนที่เป็นเป้าหมายการสำรวจ จำนวน 31,450 ครัวเรือน ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2561 ทั้ง 290 หมู่บ้าน ๆ ละ 105 คน โดยมีครัวเรือนที่เป็นเป้าหมายการสำรวจ จำนวน 31,450 ครัวเรือน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อการที่จะนำมาพัฒนาปรับแผนให้สอดคล้องกับแต่ละหมู่บ้านและชุมชน
นายประยุตต์ บุญญาศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักขายและบริการลูกค้าภูมิภาคที่ 2 กล่าวว่า สำหรับการตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ บมจ.ทีโอที ได้ร่วมออกบูธจัดแสดงการขยายผลการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐทั้งในด้านการอบรมของครู กศน. และประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ โดยมีเยาวชนต้นกล้าประชารัฐจากโครงการ “TOT Young Club (TYC)” ทั้ง ชุมชนหนองมะแซว จ.ร้อยเอ็ด และชุมชนบ้านน้ำเกลี้ยง จ.ศรีสะเกษ ร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชนนำเสนอภายในงาน ซึ่งมีการใช้ประโยชน์นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาการทำตลาดออนไลน์ผ่าน TYC e-Commerce สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้ชุมชน ทั้งนี้ ทีโอที ได้เตรียมพร้อมที่จะดำเนินตามโยบายรัฐบาลในการให้บริการโครงข่ายเน็ตประชารัฐเป็นโครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network) เพื่อให้โอเปอเรเตอร์ (Operator) เชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐไปให้บริการเชิงพาณิชย์กับชุมชน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน ชุมชน และประเทศ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0