SME tips

[TOT]COVER03_Mobile_InsideBanner
ไอเดียธุรกิจ

เทคนิคเปลี่ยนร้านอาหารให้เป็นรูปแบบออนไลน์ในสภาวะโควิด-19
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ร้านอาหารทั้งหลายจึงต้องพากันปรับตัวยกใหญ่ เพื่อพยุงให้ธุรกิจของตัวเองนั้นอยู่รอดต่อได้ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ออกจากบ้าน แล้วหันไปสั่งอาหารออนไลน์แทน มาดูกันว่าจะเริ่มเปลี่ยนร้านอาหารให้เข้าสู่วงการ Delivery จะต้องทำอย่างไรบ้าง
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ทำให้มีประกาศการควบคุมต่างๆ ขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดแพร่ขยายออกเป็นวงกว้าง ธุรกิจส่วนใหญ่จึงได้รับผลกระทบแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งปิดห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหารที่ต้องให้บริการแบบซื้อกลับเท่านั้น

ร้านอาหารทั้งหลายจึงต้องพากันปรับตัวยกใหญ่ เพื่อพยุงให้ธุรกิจของตัวเองนั้นอยู่รอดต่อได้ในสภาวะนี้ ซึ่งการขายแบบซื้อกลับบ้านในเวลานี้ก็อาจจะไม่ได้ขายดีเหมือนช่วงสถานะการณ์ปกติ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ออกจากบ้านไปไหนกัน แล้วหันไปสั่งอาหารบนแพลตฟอร์มออนไลน์แทน

เมื่อรู้แล้วว่าลูกค้าส่วนใหญ่ใช้จ่ายกันอยู่ที่ไหนกัน ก็ถึงเวลาที่ธุรกิจร้านอาหารของคุณต้องลุยตลาดออนไลน์แล้ว มาดูกันว่าการจะเริ่มเปลี่ยนร้านอาหารให้เข้าสู่วงการ Delivery จะต้องทำอย่างไรบ้าง


วางระบบจัดการอย่างมืออาชีพ


ในขั้นตอนแรกของการเปลี่ยนร้านอาหารให้เป็นรูปแบบร้านออนไลน์คือ ต้องเริ่มวางระบบให้พร้อมรับบริการ Delivery ได้ ในส่วนนี้เองคุณจะสามารถวางแผนการตลาดได้ค่อนข้างอิสระ รวมถึงใส่ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ลงในเมนูอาหารเพื่อดึงดูดให้ลูกค้ากดเลือกซื้ออาหารจากร้านของคุณ

  • วางกลยุทธ์ในการขายให้แตกต่าง

การขายอาหารออนไลน์นั้นมีข้อดีคือ ร้านอาหารไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารเล็กๆ ไปจนถึงร้านอาหารใหญ่ๆ ในห้าง สามารถแข่งขันกันได้สบาย เพราะคนสั่งซื้อไม่ได้เลือกกินอาหารจากการตกแต่งร้านที่น่าดึงดูดหรือบริการในร้านที่ดี แต่จะเลือกสั่งอาหารที่มีหน้าตาของอาหารที่น่ากิน เมนูอาหารที่เลือกกินได้ง่าย และโปรโมชั่นเป็นหลัก

  • ออกแบบเมนูอาหารใหม่ให้เหมาะสม


shutterstock_1475215193

สำหรับร้านอาหารที่ขายเมนูอาหารแยกเป็นปกติ เมื่อเข้าสู่การขายบนออนไลน์แล้วการจัดเซ็ทอาหารมักจะดึงดูดให้คนอยากกดซื้อมากกว่า เช่น กับข้าว 1 อย่างรวมกับแกง 1 อย่าง หรือซื้ออาหารแบบ 1 แถม 1 ในราคาที่ลูกค้าซื้อแล้วรู้สึกคุ้มค่า

  • ภาพอาหาร

อีกส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้นั่นคือหน้าตาของอาหาร แม้ว่าอาหารที่ร้านของคุณจะอร่อยแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีการจัดตกแต่งให้น่าดึงดูดความสนใจก็ทำให้เสียลูกค้าไปได้ ดังนั้นการถ่ายภาพอาหารที่ไ้ด้รับการตกแต่งให้น่ากินจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยดึงให้ลูกค้ารู้สึกอยากกดสั่งซื้ออาหารจากร้านของคุณมากขึ้น

  • เลือกภาชนะบรรจุอาหารที่เหมาะสม

shutterstock_1013921554

นอกจากหน้าตาที่สวยงามของภาพถ่ายอาหารแล้ว การส่งอาหารที่หน้าตาเหมือนกับในรูปจะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกดีกับร้านอาหารของคุณมากขึ้น จึงควรเลือกภาชนะบรรจุอาหารให้ยังคงรักษาการตกแต่งอาหาร ความร้อนหรือความเย็น ลูกค้าเปิดกล่องออกมาแล้วพร้อมทานได้เลยและอาหารในกล่องยังคงความน่าทานอยู่

  • ระบบจัดการออเดอร์ที่รวดเร็ว

เมื่อร้านเปิดบนออนไลน์แล้วในแต่ละวันจะมีออเดอร์อาหารเข้ามามากมาย ควรมีคนที่คอยจัดการระบบรับออเดอร์ให้ลื่นไหล เพื่อให้ลูกค้าได้รับอาหารที่ถูกต้องตามออเดอร์และในครัวเองก็สามารถทำอาหารส่งได้ทันเวลา

  • ดูแลความพร้อมของวัตถุดิบในแต่ละวัน

วัตถุดิบในการทำอาหารแต่ละวันจะต้องเตรียมพร้อมให้พอ เพราะปริมาณการสั่งอาหารจากออนไลน์อาจจะเพิ่มขึ้นจากที่ขายหน้าร้านปกติเป็นเท่าตัวก็ได้ ดังนั้นควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์เพื่อให้ได้กำไรจากการขายที่มากขึ้น

  • ลดโอกาสของการติดเชื้อให้เป็น 0

ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญมากในการขายอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารทานร้อนหรือเย็นการบรรจุใส่ถุงให้แน่นหนาเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพื่อให้มีสิ่งปนเปื้อนเชื้อโรคในถุงอาหารที่จะไปถึงมือของลูกค้า

นอกจากนี้ถ้าร้านไหนใช้บริการแบบ Delivery ควรจัดพื้นที่สำหรับรอให้กับคนส่งอาหาร ไม่ควรยืนออกันหลายคนอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยจัดให้มีที่นั่งที่เว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 1 ช่วงแขน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการระบาดของเชื้อเพิ่มขึ้น



วางแผนว่าจะใช้บริการส่งอย่างไร

 

การส่งอาหารไปยังลูกค้าเป็นหัวใจหลักของการขายอาหารออนไลน์ เพื่อรักษาความน่ากินและคุณภาพของอาหารเอาไว้ จึงควรเลือกช่องทางที่สะดวกที่สุดทั้งกับร้านของคุณและลูกค้าเอง


shutterstock_1431932405

บริการส่งเอง 
การส่งอาหารแบบร้านทางบริการส่งเอง โดยให้ลูกค้าเข้ามาสั่งกับช่องทางออนไลน์ เช่น Line, Facebook ของร้าน ซึ่งทางร้านจะเป็นผู้ออกไปส่งอาหารเองให้ถึงมือลูกค้า บริการแบบนี้จะเหมาะกับการส่งในบริเวณใกล้ๆ เท่านั้น เพราะเมื่อต้องออกไปส่งไกล ก็จะทำให้การส่งอาหารในออเดอร์ต่อไปช้าลงได้


ใช้บริการ Third-Party Application
ช่องทางสุดนิยมในตอนนี้ก็คือการบริการส่งผ่านแอพพลิเคชั่น Third-Party หรือบุคคลที่สาม เป็นผู้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งการสั่งออเดอร์และส่งอาหาร โดยทางร้านรอรับออเดอร์จากทางแอพพลิเคชั่นแล้วจะมีคนส่งอาหารจากทางแอพพลิเคชั่นเข้ามารับอาหารไปส่งให้กับลูกค้าเอง เช่น

  • LINE MAN
  • Grab Food
  • GET Food
  • Foodpanda



สั่งกับช่องทางออนไลน์ รับเองที่ร้าน
อีกหนึ่งช่องทางที่หลายร้านเลือกทำ การให้ลูกค้าโทรเข้ามาสั่งอาหารแล้วให้ลูกค้าจัดหาคนเข้ามารับอาหารเอง หรือลูกค้าเข้ามารับเอง โดยร้านที่ใช้ช่องทางนี้ส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหารที่มีออเดอร์ต่อบิลเกิน 2 พันบาท (บางแอพพลิเคชั่นไม่รองรับการสั่งเกิน 2 พันบาท) หรือร้านอาหารที่เป็นร้านปิ้งย่าง, ร้านสุกี้ชาบู และมาพร้อมกับโปรโมชั่นแถมเตาปิ้งย่างไปทำกินเองที่บ้าน ก็ช่วยดึงดูดให้ลูกค้าอยากซื้อมากขึ้น


ปรับปรุงผลลัพธ์จากการในเดือนแรก

สำหรับหลายร้านที่เปิดบริการส่งอาหารแบบ Delivery ในช่วงเดือนแรก การติดตามผลว่าอาหารที่ส่งไปถึงมือลูกค้าเป็นอย่างไรบ้างนั้นสำคัญมาก โดยดูจากยอดสั่งซื้อว่าเมนูไหนเป็นที่นิยม เมนูไหนคนสั่งน้อย หรือดูจากคอมเมนต์จากทางลูกค้าว่าไม่ชอบตรงไหน เพื่อที่จะเอาข้อติชมต่างๆ มาปรับปรุงให้บริการส่งของร้านอาหารเป็นไปอย่างมืออาชีพมากขึ้น


การเปลี่ยนร้านอาหารไปสู่ออนไลน์ในช่วงนี้ ไม่เพียงจะช่วยให้ร้านของคุณสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าใหม่ๆ ได้รู้จักกับร้านอาหารของคุณมากขึ้น เมื่อผ่านวิกฤติ Covid-19 นี้ไปได้แล้ว ไม่แน่ว่าร้านอาหารของคุณอาจได้เป็นหนึ่งในร้านอาหารที่มียอดสั่งอาหารทะลุเป้าทุกวันเลยก็ได้