คุณคิดว่า Data Analysis คืออะไร ? และทราบหรือไม่ว่ามีความสำคัญอย่างไรบ้าง ? คำว่า Data Analysis คงเป็นคำที่บุคคลภายในองค์กร บริษัทต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้ได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง และอาจจะมีบางท่านที่เพิ่งเคยได้ยินหรือรู้จัก วันนี้ TOT จึงมีคำอธิบายเพิ่มเติมมาฝากทุกท่านครับ
เพราะธุรกิจกำลังแข่งขันกันด้วยข้อมูล Data Analysis จึงเป็นทักษะที่มีความสำคัญ
Data Analysis คืออะไร ?
Data Analysis หรือเรียกเป็นภาษาไทยได้ว่า การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นทักษะที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการมาก ตั้งแต่การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในสายงานที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรง เช่น Digital Marketing, Marketing Research, Strategic Planning เป็นต้น ส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ ตระหนักถึงข้อมูลจำนวนมากที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ถ้าหากองค์กรสามารถติดตามและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ จากหลากหลายช่องทาง และนำมาวิเคราะห์ให้เห็นภาพชัดเจน เป็นขั้นเป็นตอนมากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้เกิดประโยชน์และทำให้ได้รับผลตอบแทนทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Data Analysis ประกอบไปด้วย 2 ส่วนที่สำคัญคือ การวิเคราะห์ตลาด (Market Analysis) และ การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining)
การวิเคราะห์ตลาด (Market Analysis)
การเริ่มต้นธุรกิจ อาจจะดูเป็นเรื่องที่ยากในสายตาใครหลายคน เพราะจะต้องทำความเข้าใจและวิเคราะห์การตลาด ซึ่งช่วยกำหนดเป้าหมายและแบบแผนทางการตลาดทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งในขณะเดียวกันการที่จะจัดกิจกรรม หรือโปรโมชั่นต่างๆ ก็จะต้องทำการวิเคราะห์และศึกษาคู่แข่งด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้ประกอบการควรใช้ความรอบคอบในการวางแผนและวิเคราะห์การตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด
การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining)
เป็นกระบวนการที่เข้าถึงข้อมูลจำนวนมาก โดยใช้ปัจจัยหลาย ๆ อย่างในการแยกข้อมูลรูปแบบต่าง ๆ ออกมาจาก Big Data ซึ่งเปรียบเสมือนเหมืองข้อมูล เพื่อใช้ในการวางแผนโฆษณาและการตลาดเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่ดี
การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) มีด้วยกัน 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นก่อนดำเนินงาน (Pre-processing)
2. ขั้นดำเนินการทำเหมืองข้อมูล (Data mining)
3. ขั้นตรวจวัดผล (Result validation)
โดยสรุปคือทักษะ Data Analysis เป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้องค์กรและผู้ประกอบการสามารถรวบรวมข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ สะดวกต่อการเลือกข้อมูลมาใช้งานและวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรนั่นเองครับ