ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายคนเกิดความเครียดต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะออกจากบ้านไม่ได้ แถมเศรษฐกิจทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงกัน ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจค่ายเพลงที่เคยสร้างเสียงเพลง เสียงดนตรี มาเติมเต็มความสุขเยียวยาจิตใจของเหล่าแฟนคลับและผู้คนทั่วไป ก็จำเป็นต้องหยุดชะงักไปด้วยเป็นเวลายาวนานมากกว่า 3 เดือน ทำให้ต้องมองหาทางรอดที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ นั่นคือ การนำ Live Streaming เข้ามาใช้ในการจัดคอนเสิร์ต แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ธุรกิจก็ยังไม่เคยนำมาใช้อย่างจริงจัง ดังนั้นถือเป็นเรื่องท้าทายที่ธุรกิจต้องปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้
ธุรกิจค่ายเพลงก่อนเกิดโควิด-19
ย้อนกลับไปในยุคแรกๆ ที่ธุรกิจเพลงได้รับผลกระทบ คงไม่พ้นเรื่องเทปและซีดีที่ถูกแทนที่ด้วยเครื่องเล่น MP3 จุดนี้เองเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ค่ายเพลงต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เริ่มจัดคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมที่ทำให้ผู้บริโภคได้ประสบการณ์มากกว่าการฟังเพลงผ่านเครื่องเล่น เน้นการสัมผัสศิลปินตัวจริงเสียงจริงมากขึ้น จนสามารถทำให้ธุรกิจก้าวผ่านจุดเปลี่ยนนี้ได้
หลังจากนั้นดูเหมือนว่าทุกอย่างราบรื่น ธุรกิจค่ายเพลงมีรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตตามสถานที่ต่างๆ และการออกอีเวนต์ของศิลปิน เรียกได้ว่ามีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนศิลปินและทีมงานแทบไม่มีคิวว่าง จนเมื่อถึงจุดเปลี่ยนที่ธุรกิจค่อยๆ อิ่มตัว ถดถอยเนื่องจากการเข้ามาของแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Youtube, Music streaming ช่องทางต่างๆ ทำให้ต้องพลิกเกมอีกครั้งด้วยวิธีการก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้บางค่ายต้องปรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคเพลงที่เปลี่ยนไป
ธุรกิจค่ายเพลงหลังเกิดโควิด-19
จากที่ก่อนหน้านี้ธุรกิจได้เริ่มปรับตัวและค่อยๆ ทรงตัวมาตลอด เมื่อมาเจอวิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติมเข้าไปอีก ถือว่าได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ทุกสิ่งหยุดชะงักทันที เพราะทุกคนไม่สามารถเดินทางได้ อีเวนต์ต่างๆ คอนเสิร์ต หรืองานที่วางแผนไว้ช่วงต้นปีก็มีอันต้องยกเลิก ทำให้รายได้หดหายในพริบตา ส่งผลให้ศิลปินต้องปรับตัวหาอาชีพใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ทดแทน
โดยเห็นได้จากศิลปินเริ่มใช้ช่องทางออนไลน์มาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับแฟนคลับ การร้องเพลงเพียงไม่กี่ประโยคและเล่นดนตรีจากบ้านของตัวเอง ช่วยสร้างรอยยิ้มให้กับแฟนคลับในช่วงสั้นๆ และยังมีการ Live Streaming เพื่อจัดระดมทุนช่วยเหลือกันในเรื่องต่างๆ นับเป็นการปรับตัวที่เห็นผลชัดเจน และส่วนของการจัดการภายใน ค่ายเพลงเองก็ต้องหันมาทบทวนโมเดลธุรกิจใหม่ว่าต้องปรับเปลี่ยนการบริหารจุดใดบ้าง เพื่อให้ธุรกิจมีรายได้เข้ามาเหมือนเดิม
Live Streaming คืออะไร ทำให้ธุรกิจดนตรีรอดพ้นวิกฤตได้อย่างไร
การเกิดวิกฤตไม่ได้หมายความว่าจะต้องเจอทางตันตลอด เพราะจริงๆ แล้วในทุกๆ วิกฤตมักมีโอกาสซ่อนอยู่ในนั้นเสมอ เช่นเดียวกับธุรกิจเพลงที่นำเอา Live Streaming มาใช้เพื่อให้อยู่รอดได้ในยุคนี้ และเป็นอีกหนึ่งช่องทางประชาสัมพันธ์ธุรกิจให้ถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เมื่อนำมาใช้ในช่วงเวลาวิกฤตก็มีความท้าทายซ่อนอยู่
Live Streaming คือ การถ่ายทอดสด หรือจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ค่ายเพลงสะดวก ในอีกแง่หนึ่งเป็นช่องทางสำหรับสร้างคอนเทนต์ไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งตอนนี้ได้รับความนิยมมากเพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตก็เข้าชมสดๆ ได้แล้ว อีกทั้งสามารถทำได้แบบ Real Time ไร้ขอบเขตและปราศจากข้อจำกัดใดๆ
โดยธุรกิจสามารถสร้างรายได้จากการขายบัตรเข้าชม ให้แฟนคลับของศิลปินเข้าร่วมงานผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ได้โดยที่ไม่ต้องเดินทาง หรือบางคอนเสิร์ตก็เปิดให้ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย หรืออาจเปิดให้ผู้ชมเข้ามาสนับสนุนตามความสมัครใจ ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตรูปแบบไหนก็มีข้อดี คือ ทำให้ศิลปินและแฟนคลับใกล้ชิดกันมากขึ้นเหมือนอยู่ในคอนเสิร์ตแบบเดิม ทั้งยังสร้างความสบายใจและรู้สึกปลอดภัยเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกด้วย
ความแตกต่างของ Live Streaming คอนเสิร์ต และคอนเสิร์ตแบบปกติ
แน่นอนว่าการ Live Streaming คอนเสิร์ต กับการจัดคอนเสิร์ตแบบปกติย่อมมีความแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของผู้ชมด้วยว่าชอบแบบไหนมากกว่ากัน ดังนั้น เราจะมาชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของทั้ง 2 รูปแบบนี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมชัดเจนมากขึ้น
- เรื่องสถานที่
- เดิมการจัดคอนเสิร์ตแบบปกติทางผู้จัดต้องหาสถานที่เพื่อรองรับแฟนคลับจำนวนมาก ต้องเสียค่าเช่าสถานที่ ยิ่งสถานที่ขนาดใหญ่ค่าเช่าก็จะสูงตาม แต่หากจัดคอนเสิร์ตรูปแบบใหม่ Live Streaming นั้น แค่มองหาพื้นที่เล็กๆ ไว้ถ่ายทอดสดก็เพียงพอ ซึ่งอาจเป็นสถานที่ที่ธุรกิจค่ายเพลงมีอยู่แล้ว พร้อมทั้งต้องมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อให้เหล่าแฟนคลับได้ชื่นชมศิลปินที่ตัวเองรักได้อย่างเต็มที่ และเหนือกว่าด้วยการรองรับคนได้มากกว่าปกติหลายเท่า
- เรื่องความรู้สึก
- เรามักคุ้นชินกับการไปคอนเสิร์ตแบบปกติที่ต้องเดินทางฝ่ารถติดไปสถานที่นั้นจริงๆ ได้สัมผัสศิลปินแบบไม่มีหน้าจอมากั้น ตื่นตาตื่นใจกับแสง สี เสียง เอฟเฟกต์ของจริง ต่างจากการจัดคอนเสิร์ตแบบ Live Streaming ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจไม่ได้อรรถรสหรือความสนุกเท่าแบบเดิม แต่หากผู้จัดนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาร่วมด้วย เช่น ภาพ 3 มิติ หรือเทคโนโลยี AR รับรองว่าความรู้สึกของผู้ชมนั้นแทบจะไม่แตกต่างกันเลย เพราะสามารถเพิ่มความตื่นตาตื่นใจเหมือนอยู่ในคอนเสิร์ตจริงๆ บางงานยังสามารถเพิ่มลูกเล่นด้วยการวิดีโอคอลกับแฟนคลับผู้โชคดี ก็เพิ่มความฟินได้ไม่แพ้การจัดคอนเสิร์ตแบบเดิมทีเดียว
- เรื่องค่าใช้จ่าย
- การจัดคอนเสิร์ตรูปแบบเดิมนั้น ผู้จัดต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับการโปรโมตในช่องทางต่างๆ รวมถึงทางออฟไลน์ด้วย แต่การจัดแบบ Live Streaming จะเน้นการโปรโมตผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้เจาะกลุ่มเป้าหมายโดยตรง และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทีมงานต่างๆ ไปได้มาก ทั้งทีมคอยดูแลจัดการสถานที่ ดูแลศิลปิน ดูแลแสง สี เสียง อำนวยความสะดวกให้ผู้ชม เพราะการ Live Streaming นั้นสามารถจัดในสถานที่เล็กๆ เน้นเรื่องเทคโนโลยีสดใหม่ และอินเทอร์เน็ตที่เสถียรแทน ซึ่งทุกค่ายเพลงสามารถหันมาจัดได้อย่างอิสระ
Case Study ธุรกิจที่ใช้ Live Streaming แล้วประสบความสำเร็จ
มีค่ายเพลงหลายแห่งที่นำ Live Streaming เข้ามาใช้แล้วมีกระแสตอบรับที่ดี หนึ่งในนั้นคือค่ายเพลงเกาหลีชื่อดังอย่าง SM Entertainment ที่นำวง Super Junior มาจัดแสดง โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสมจริง และเติมไอเดียเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสร้างความแตกต่าง โดยวัดผลได้จากการขายบัตรที่ Sold out อย่างรวดเร็ว และกระแสตอบรับอย่างท่วมท้นจากแฟนคลับทั้งชาวไทยและต่างชาติ ถึงจะไม่ได้เจอศิลปินจริงๆ แต่ยังคงให้ความรู้สึกใกล้ชิดกัน เรียกได้ว่าเป็นการเข้าถึงคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยไปคอนเสิร์ตจริงๆ
มากกว่านั้นยังเป็นการเปิดทางให้ธุรกิจสามารถเข้าไปโลดแล่นอยู่ในสื่อออนไลน์เต็มตัว สร้างช่องทางใหม่ๆ ในการสื่อสารกับแฟนคลับเพื่อขยายฐานให้กว้างขึ้น ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในค่ายเพลงที่ประสบความสำเร็จในการนำ Live Streaming เข้ามาใช้ ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าอีกหลายทาง เช่น การทำ Music marketing ร่วมกับสินค้าต่างๆ ในอนาคต
การทำ Live Streaming จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถทำให้ธุรกิจดนตรีเติบโตต่อไปได้ มีช่องทางการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แถมยังประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการจัดคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง อีกทั้งยังเป็นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุดแบบ Real time ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าหรือกวนใจผู้ชม คุณเองก็สามารถพลิกโฉมธุรกิจดนตรีให้ปังกว่าเดิมได้เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต
TOT Business Solution Expert ก็ช่วยให้การ Live Streaming มีความเสถียร ปลอดภัย ทำให้การจัดคอนเสิร์ตราบรื่น ไม่จำเป็นต้องพึ่งสถานที่อีกต่อไป ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกันได้อย่างไร้ขีดจำกัด สนใจสามารถสอบถามบริการเพิ่มเติมได้ที่
https://bit.ly/3kOTA4q
หมายเหตุ TOT Business Solution Expert เฉพาะพื้นที่ที่มีโครงข่ายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น