[TOT]COVER28_Mobile_InsideBanner
SME-tips

จัดคอนเสิร์ตอย่างไรให้ออกมาไม่ขาดทุน
ต่อไปนี้คือแนวคิดและขั้นตอนสำคัญในการสร้างสรรค์คอนเสิร์ตจากคำแนะนำของค่ายเพลงและผู้มีประสบการณ์หลายท่าน ที่นักจัดคอนเสิร์ตหน้าใหม่ต้องคำนึงถึง

อุตสาหกรรมการจัดคอนเสิร์ตมีแนวโน้มเติบโตและสร้างเม็ดเงินสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ด้วยเทคโนโลยีและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คนในยุคใหม่ ทำให้ผู้บริโภคแสวงหาประสบการณ์ความบันเทิงจากการแสดงสดและเทศกาลดนตรีต่างๆ มากขึ้น แต่แน่นอนว่าจำนวนคอนเสิร์ตและงานอีเวนต์ที่มีมากขึ้นนั้น ย่อมหมายถึงการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นด้วย และหนึ่งในเรื่องที่ท้าทายที่สุดในการจัดคอนเสิร์ตไม่ว่ายุคไหนก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือจะจัดอย่างไรให้ไม่ขาดทุน

ต่อไปนี้คือแนวคิดและขั้นตอนสำคัญในการสร้างสรรค์คอนเสิร์ตจากคำแนะนำของค่ายเพลงและผู้มีประสบการณ์หลายท่าน ที่นักจัดคอนเสิร์ตหน้าใหม่ต้องคำนึงถึง



คำนวณต้นทุนในการจัดคอนเสิร์ต

จัดคอนเสิร์ตอย่างไรให้ออกมาไม่ขาดทุน
เพราะกำไรคือเงินรายได้ที่หักลบด้วยค่าใช้จ่าย การจัดคอนเสิร์ตนั้นไม่ต่างจากการทำธุรกิจแบบอื่นๆ คือจะกำไรได้ก็ต่อเมื่อสร้างรายได้ได้มากกว่ารายจ่าย ดังนั้นขั้นตอนแรกในการวางแผนจัดคอนเสิร์ตที่สำคัญที่สุดที่ห้ามมองข้ามไปก็คือ การคาดการณ์ต้นทุนทั้งหมดที่ต้องใช้ในการจัดงาน

การคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งหมดตั้งแต่ค่าตัวศิลปิน ค่าสถานที่ ค่าเช่าอุปกรณ์ ค่าแรงทีมงาน ค่าโปรดักชั่น แสง สี เสียง ไปจนถึงค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ มีจุดประสงค์เพื่อให้คุณสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้รัดกุมและสามารถตั้งเป้าต่อได้ว่า จะต้องสร้างยอดขายให้ได้อย่างต่ำเท่าไรเพื่อไม่ให้ขาดทุนนั่นเอง

ค่าตัวศิลปินนั้นนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่มักจะมีเรตราคาที่กว้างมาก ขึ้นอยู่กับตัวศิลปินและอีกหลายปัจจัย ต่างจากค่าสถานที่ ค่าโปรดักชั่น และค่าโฆษณาที่มีราคามาตรฐานค่อนข้างตายตัว สามารถคาดคะเนได้ไม่ยาก จึงจำเป็นมากที่คุณจะต้องกำหนดรายชื่อศิลปิน เจรจาค่าตัวกับศิลปินหรือต้นสังกัดตั้งแต่แรก เพื่อจะนำตัวเลขมาวางแผนการจัดงานต่อ

สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ บางรายการที่ยังไม่แน่ใจ ก็ควรจะเผื่อตัวเลขไว้สูงสักหน่อย และทางที่ดีก็ควรจะมีเงินสำรองไว้อีกก้อนหนึ่งสำหรับกรณีไม่คาดฝันด้วย



หาสปอนเซอร์

จัดคอนเสิร์ตอย่างไรให้ออกมาไม่ขาดทุน
ความจริงข้อหนึ่งที่นักจัดคอนเสิร์ตมือใหม่ควรตระหนักก็คือ คอนเสิร์ตจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จและสร้างกำไรได้อย่างงดงาม ก็เพราะมีสปอนเซอร์ที่ไว้วางใจให้การสนับสนุน เพราะลำพังแค่รายได้จากบัตรชมคอนเสิร์ตอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอ

หลังจากที่สรุปตัวเลขต้นทุนและรายชื่อศิลปินแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ พร้อมด้วยรายละเอียดในการจัดคอนเสิร์ตไปนำเสนอให้เหล่าสปอนเซอร์และนายทุนที่มีแนวโน้มจะให้การสนับสนุนได้พิจารณา

งานอีเวนต์อย่างงานคอนเสิร์ตนั้นเป็นโอกาสที่แบรนด์ต่างๆ จะได้สร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นสิ่งที่คุณต้องทำการบ้านล่วงหน้าก่อนพูดคุยสปอนเซอร์จึงมี 2 ข้อหลักๆ คือ

  • คอนเซปต์ในการจัดคอนเสิร์ตคืออะไร จะทำให้คนอยากมาชมและกลับบ้านด้วยความรู้สึกประทับใจอย่างไร กำหนดการและสถานที่เป็นอย่างไร
  • กลุ่มเป้าหมายของคุณเป็นใคร มีไลฟ์สไตล์แบบไหน เหมาะกับแบรนด์สินค้าหรือบริการของสปอนเซอร์อย่างไร รายชื่อแบรนด์อื่นๆ ที่ตกลงเป็นสปอนเซอร์แล้วมีเจ้าไหนบ้าง

หากคุณสามารถโน้มน้าวให้นายทุนและสปอนเซอร์รู้สึกเชื่อมั่น เห็นภาพความสำเร็จของคอนเสิร์ตและกลุ่มเป้าหมายที่ตรงกับแบรนด์ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะได้รับการสนับสนุน




ตั้งราคาบัตรคอนเสิร์ต

จัดคอนเสิร์ตอย่างไรให้ออกมาไม่ขาดทุน
หลังจากเจรจากับสปอนเซอร์ทั้งหมดแล้ว เท่ากับว่าคุณจะสามารถสรุปตัวเลขรายได้จากการสนับสนุนของสปอนเซอร์ตั้งแต่ก่อนเปิดขายบัตร ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนให้อุ่นใจขึ้นแล้ว หากรายได้จากสปอนเซอร์มีมาก คุณก็สามารถตั้งราคาบัตรคอนเสิร์ตให้ต่ำลงได้อีกด้วย

การตั้งราคาบัตรคอนเสิร์ตเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายมาก ควรพิจารณากำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมายให้ดี เพราะหากตั้งราคาสูงไป อาจไม่มีคนซื้อ ในขณะเดียวกันถ้าราคาต่ำเกินไป ต่อให้คอนเสิร์ตของคุณได้รับกระแสตอบรับล้นหลามจนขยายดีเป็นเทน้ำเทท่า มันก็อาจจะไม่มีความหมายอะไรเลยเพราะสร้างกำไรไม่ได้สักที



ทำการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายบัตร

ไม่มีอะไรจูงใจมากไปกว่าสิทธิพิเศษ ลองพิจารณาดูว่าคุณสามารถมอบสิทธิประโยชน์อะไรให้กลุ่มเป้าหมายและพาร์เนอร์แต่ละกลุ่มเพื่อส่งเสริมการขายได้บ้าง

1.มอบสิทธิพิเศษสำหรับคนซื้อเร็ว

หลายครั้งเรามักจะเห็นผู้จัดคอนเสิร์ตเปิดขายบัตรประเภท Early Bird ที่มีราคาถูกเป็นพิเศษเป็นอย่างแรก เพื่อกระตุ้นให้แฟนคลับลงมือซื้อบัตรภายในเวลาจำกัด และเป็นการสร้างกระแสให้คอนเสิร์ตไปในตัว กลยุทธ์นี้ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงมาก แต่ข้อควรระวังสำหรับผู้จัดคอนเสิร์ตก็คือควรจะขายแบบจำกัดจำนวนบัตรด้วย เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการรายได้

2.จัดแคมเปญส่วนลดร่วมกับเครือข่ายพาร์ทเนอร์

เจ้าของสถานที่ ศิลปินร่วมวงการ และอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามเป็นกลุ่มเดียวกันหรือใกล้เคียงกับกลุ่มเป้าหมายของคุณ คนเหล่านี้สามารถเป็นพาร์ทเนอร์ที่จะช่วยประชาสัมพันธ์คอนเสิร์ตและสร้างยอดขายให้คุณได้ โดยคุณอาจแจกโค้ดส่วนลดเฉพาะให้แต่ละคน เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้ติดตามของพวกเขาสามารถซื้อบัตรได้ในราคาพิเศษ และพวกเขาเองก็จะได้รับส่วนแบ่งจากบัตรด้วย

นอกจากนี้ สำหรับคอนเสิร์ตที่จัดเป็นประจำ มีผู้ชมขาประจำเหนียวแน่น คุณก็สามารถแจกโค้ดส่วนลดสำหรับลูกค้าหน้าใหม่ เพื่อดึงดูดให้กลุ่มแฟนคลับชวนเพื่อนมาดูคอนเสิร์ตด้วยกัน เป็นการช่วยขยายฐานแฟนเพิ่มได้อีกทาง

3. เพิ่มกำไรด้วยบัตรพรีเมียม

แทนที่จะตั้งราคาบัตรสูงๆ เพื่อทำกำไร แต่อาจทำให้กลุ่มเป้าหมายที่อ่อนไหวต่อราคาหรือมีกำลังซื้อต่ำถอดใจ คุณควรใช้วิธีตั้งราคาบัตรให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย แล้วใช้วิธีบัตรพรีเมียมขึ้นมาอีกประเภทแทน โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจให้แฟนคลับตัวยงที่มีกำลังซื้อ  โดยเน้นเรื่องการสร้างประสบการณ์ที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่คนกลุ่มนี้พร้อมจะจ่าย เช่น

  • ของสะสม limited edition ของศิลปินพร้อมลายเซ็น
  • บัตรผ่านสำหรับพบปะศิลปินหลังเวที
  • อาหารและเครื่องดื่มฟรีภายในคอนเสิร์ต
  • พื้นที่พักผ่อนพิเศษสำหรับผู้ถือบัตรพรีเมียม
  • ที่นั่งมุมดีที่สุดในคอนเสิร์ต


อยากจัดคอนเสิร์ตไม่ให้ขาดทุน อย่านึกถึงกำไรอย่างเดียว

จัดคอนเสิร์ตอย่างไรให้ออกมาไม่ขาดทุน

สุดท้ายแล้ว แม้ว่าการควบคุมต้นทุนและวางแผนเพื่อสร้างรายได้จะเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการจัดคอนเสิร์ต แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่จะทำให้ผู้จัดได้กำไรจากคอนเสิร์ตอย่างยั่งยืนในระยะยาวนั้นไม่ใช่การคิดถึงแต่ผลกำไรที่เป็นเม็ดเงิน แต่คือความมุ่งมั้นตั้งใจของทีมงานที่ต้องการส่งต่อประสบการณ์ อารมณ์ความรู้สึก หรือข้อคิดดีๆ ให้แก่คนดู คอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเพื่อแสวงหาแต่ผลกำไรโดยมองข้ามใจความสำคัญของการชมคอนเสิร์ต จึงยากที่จะเอาชนะใจผู้ชมได้