การเข้ามาของ IoT (Internet of Things) ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ผู้คนหันมาจับจ่ายซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้ในแต่ละวันมีสินค้าที่ต้องนำส่งไปตามจุดต่างๆ จำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นพัสดุ หรืออาหาร นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้โลจิสติกส์มีบทบาทมากขึ้นในโลกธุรกิจปัจจุบัน
แม้ว่าโลจิสติกส์จะเป็นธุรกิจที่ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ได้ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ได้กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญอีกครั้ง มาดูกันว่ามีเหตุผลใดอีกบ้างที่ทำให้ธุรกิจนี้เป็นที่น่าสนใจ
โลจิสติกส์คืออะไร
โลจิสติกส์ (Logistics) หมายถึงระบบการจัดส่งสินค้า สิ่งของ หรือทรัพยากรใดก็ตามจากแต่ละสถานที่ไปยังจุดหมาย รวมไปถึงการบริหารสินค้าคงคลัง การจัดการบรรจุหีบห่อ โดยมีจุดประสงค์หลักคือการนำส่งของไปถึงมือผู้รับอย่างปลอดภัย
เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความสำคัญต่อ Supply Chain เป็นอย่างมาก เนื่องจากกระบวนการจัดส่งสินค้านั้นต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล ผู้ประกอบการจำนวนมากจึงเลือกที่จะใช้บริการโลจิสติกส์ เพื่อเป็นสื่อกลางในการนำส่งสินค้าของตนไปยังลูกค้านั่นเอง
5 เหตุผลทำไมโลจิสติกส์จึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ
อย่างที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันการแข่งขันทางธุรกิจนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ความประทับใจในตัวสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการให้บริการ ราคา บรรจุภัณฑ์และความรวดเร็วในการจัดส่งอีกด้วย ซึ่งโลจิสติกส์ที่ดีมีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก
แต่เหตุผลเพียงเท่านี้ก็ยังนับว่าไม่เพียงพอที่ทำให้โลจิสติกส์กลายเป็นจุดสนใจ ลองมาดูกันว่า เหตุผลใดอีกบ้างที่ทำให้โลจิสติกส์กลายมาเป็นธุรกิจที่น่าสนใจในยุคนี้
1. E-Commerce โอกาสของธุรกิจโลจิสติกส์
การเติบโตของ E-Commerce ในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น มีผู้ประกอบการรายย่อยขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก จำนวนสินค้าที่มีการเคลื่อนย้ายขนส่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านชิ้นต่อวัน
อาจกล่าวได้ว่าการเติบโตของ E-Commerce นั้นมีส่วนที่ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ในอนาคตข้างหน้าอัตราการเติบโตของ E-Commerce ก็มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก สวนทางกับผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เริ่มมีจำนวนไม่เพียงพอ
นี่จึงเป็นโอกาสกอบโกยกำไรในภาวะที่ธุรกิจออนไลน์กำลังเฟื่องฟูเช่นนี้
2. ขยายขอบเขตได้มากกว่าแค่ส่งพัสดุ
หากลองมองย้อนไปถึงธุรกิจโลจิสติกส์เมื่อสมัยก่อน สิ่งแรกที่นึกถึงอาจเป็นกิจการที่นำส่งได้เฉพาะพัสดุ หรือสินค้าที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการเน่าบูดเสียหาย
ปัจจุบันโลจิสติกส์ได้ขยายขอบเขตขึ้นไปอีกมาก ทำให้แทบไม่มีข้อจำกัดของสินค้าที่จะนำส่ง อย่างที่ทราบกันดีก็คงจะเป็นการนำส่งสินค้าประเภทอาหารผ่านทางเมสเซนเจอร์ บริการขนส่งแบบแช่เย็นสำหรับสินค้าที่เน่าเสียง่าย หรือบริการส่งไม้ประดับที่ต้องใช้การดูแลเป็นอย่างสูง
เนื่องจากความต้องการของลูกค้ามีมากมายหลากหลายขึ้น บริการขนส่งที่สามารถเจาะผู้ใช้บริการเฉพาะกลุ่มได้นั้น จึงสามารถดึงส่วนแบ่งทางการตลาดของกิจการขนส่งเหล่านี้ออกมาได้อย่างแน่นอน
3. On-Demand Delivery ความต้องการใหม่ของผู้บริโภค
การแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่ประสิทธิภาพของสินค้าอีกต่อไป หนึ่งในความต้องการใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาของผู้บริโภคนั่นก็คือ ความรวดเร็วในการขนส่ง เกิดเป็นธุรกิจโลจิสติกส์แบบ On-Demand
โดยปกติแล้วการสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์นั้นจะต้องทำการรอสินค้าอย่างน้อย 1-2 วัน ทำให้เริ่มมีผู้ประกอบการบางรายเห็นโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่าด้วยการนำส่งสินค้าให้ลูกค้าในทันที หรือที่เรียกกันว่า On-Demand Delivery
แต่การจัดส่งสินค้าแบบ On-Demand นั้นก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการจัดส่งสินค้าแบบปกติหลายเท่าตัว เนื่องจากปริมาณที่สามารถนำส่งได้ในแต่ละครั้งนั้นมีจำนวนน้อย อีกทั้งยังไม่มีผู้ที่ลงทุนในด้านนี้อย่างเต็มตัว
ด้วยความต้องการใหม่ของผู้บริโภค นี่อาจเป็นโอกาสที่คุณจะได้เริ่มต้นใหม่ในธุรกิจนี้ สร้างมาตรฐานใหม่ในการขนส่งรายวันเพื่อสร้างผลกำไร
4. มูลค่าทางการตลาดที่สูงขึ้นทุกปี
ในช่วงปีที่ 2017 - 2019 ธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทยมีอัตราเติบโตสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 40% โดยสอดคล้องกับการที่ E-Commerce ภายในประเทศเติบโตขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 18% เลยทีเดียว
นี่เป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตในอนาคตของธุรกิจโลจิสติกส์ ประกอบกับในปี 2020 นี้เกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ธุรกิจ E-Commerce ทั่วโลกยิ่งเติบโตขึ้นไปอีก
มีการคาดการณ์ว่าการจัดส่งพัสดุในปี 2020 จะมีจำนวนเฉลี่ยถึงวันละ 4 ล้านชิ้นเลยทีเดียว
5. ยังคงเป็นพื้นฐานการทำธุรกิจให้เติบโต
โลจิสติกส์ยังคงเป็นพื้นฐานของการเติบโตสำหรับธุรกิจจำนวนมาก เนื่องจากการสร้างระบบขนส่งของตัวเองนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง จึงต้องพึ่งพาการนำส่งพัสดุของโลจิสติกส์ เป็นธุรกิจแบบได้ผลประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย
อีกทั้ง E-Commerce ก็ยังคงมีแนวโน้มในการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ การส่งพัสดุจะต้องกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของการขายสินค้าในอนาคตอย่างแน่นอน
แม้ในอนาคตอาจมีการ Disrupt ผ่านเครื่องจักร หรือโดรนส่งสินค้า แต่ปัจจุบันบุคลากรด้านโลจิสติกส์ยังคงเป็นที่ต้องการอย่างสูง
โลจิสติกส์เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เพิ่มโอกาสมากมายให้กับธุรกิจ คุณอาจหันมาทำธุรกิจด้านนี้โดยตรง หรืออาจจะทำธุรกิจขายสินค้าอื่นๆ แล้วเพิ่มการทำโลจิสติกส์เข้าไปก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ และด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปสู่ยุค E-Commerce ที่ลูกค้าหันมาซื้อสินค้าผ่านโลกออนนไลน์มากขึ้น การลงมาทำโลจิสติกส์น่าจะเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสและผลกำไรให้กับธุรกิจของคุณได้