การทำโรงงานเป็นของตัวเอง จะช่วยส่งเสริมในด้านของคุณภาพการผลิต การบริหารคลังสินค้า และช่วยให้การส่งออกกระจายผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องง่ายขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตด้านธุรกิจในระยะยาว
แต่การจะสร้างโรงงานเป็นของตัวเองนั้นไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะมีปัจจัยมากมายให้ต้องคำนึง หากมีการเตรียมตัวและศึกษาให้พร้อมก่อน จะช่วยลดความยุ่งยาก และป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
ปัจจัยทั้ง 7 ก่อนเริ่มตัดสินใจทำโรงงาน
ก่อนที่จะเริ่มต้นทำโรงงานนั้น มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงก่อนเริ่มต้นสร้างเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของงบประมาณ การก่อสร้าง รวมถึงมาตรฐานภายในที่เพียงพอ โดยสามารถแบ่งได้ 7 ประเด็นหลักๆ ที่ควรศึกษาอย่างถี่ถ้วน มาดูกันเลยว่าถ้าอยากมีโรงงานเป็นของตัวเองต้องทำอย่างไรบ้าง?
1. ประเภทของโรงงานและการยื่นคำขออนุญาต
ในขั้นตอนแรกเริ่มของการทำโรงงานนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตเปิดให้ถูกกฎหมาย แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนนั้น ต้องตรวจสอบก่อนว่าโรงงานที่คุณตั้งใจจะทำนั้นจัดอยู่ในประเภทใด
ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ได้แบ่งโรงงานออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- โรงงานประเภทที่ 1
หมายถึง โรงงานที่เครื่องจักรมีกำลังไม่เกิน 20 แรงม้าหรือเทียบเท่า และมีคนงานไม่เกิน 20 คน หากเป็นโรงงานประเภทนี้สามารถดำเนินกิจการได้ทันทีโดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต (ยกเว้นกรณีที่ประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดมลพิษ ให้จัดเป็นจำพวกเดียวกับโรงงานประเภทที่ 3)
- โรงงานประเภทที่ 2
หมายถึง โรงงานที่เครื่องจักรมีกำลังมากกว่า 20 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้าหรือเทียบเท่า และมีคนงานมากกว่า 20 คน แต่ไม่เกิน 50 คน โรงงานประเภทนี้สามารถดำเนินกิจการได้ทันทีโดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต แต่จะต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมรายปีในทุกๆ ปี (ยกเว้นกรณีที่ประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดมลพิษ ให้จัดเป็นจำพวกเดียวกับโรงงานประเภทที่ 3 เช่นเดียวกัน)
- โรงงานประเภทที่ 3
หมายถึง โรงงานที่เครื่องจักรมีกำลังเกินกว่า 50 แรงม้า และมีคนงานมากกว่า 50 คน หรือเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดมลพิษจากการผลิต โรงงานประเภทนี้จำเป็นต้องขอใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินกิจการได้
ทั้งนี้โรงงานทุกประเภทจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามกฎที่กำหนดจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด รวมถึงรับฟังและปฏิบัติตามหากมีการประกาศชี้แจงเพิ่มเติมด้วย
2. ตรวจสอบข้อห้ามสถานที่ตั้ง
ไม่ใช่ทุกสถานที่ที่สามารถทำการปลูกสร้างโรงงานได้ในทันที หากไม่ทันศึกษาให้ดีก่อนแล้วไปสร้างในสถานที่ต้องห้าม อาจต้องเสียค่าชดเชยจำนวนมหาศาล อีกทั้งยังต้องเสียค่ารื้อถอนอีก
เมื่อได้ทราบแล้วว่าโรงงานที่คุณต้องการจะสร้างนั้นจัดอยู่ในโรงงานประเภทอะไร คราวนี้มาดูกันว่าตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว โรงงานแต่ละประเภทสามารถจัดตั้งได้ที่บริเวณไหนบ้าง ดังนี้
- โรงงานทุกประเภท ห้ามจัดตั้งภายในบริเวณหมู่บ้านจัดสรร อาคารชุด หรือบ้านเพื่อพักอาศัย
- โรงงานประเภทที่ 1 และ 2 ห้ามก่อตั้งกิจการในระยะ 50 เมตรจากเขตติดต่อสาธารณะสถาน ได้แก่ โรงเรียน โรงพยาบาล วัด โบราณสถาน และแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
- โรงงานประเภทที่ 3 ห้ามก่อตั้งกิจการในระยะ 100 เมตรจากเขตติดต่อสาธารณะสถาน และต้องอยู่ในสถานที่และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีบริเวณเพียงพอ ไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุรำคาญ หรือความเสียหายต่อบุคคล หรือทรัพย์สินของผู้อื่น
กฎหมายนี้มีไว้เพื่อป้องกันการเกิดมลพิษเข้าไปภายในเขตชุมชน จึงควรศึกษาเรื่องสถานที่จัดตั้งเอาไว้ให้ดี ๆ
3. การคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง
อีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญของการทำโรงงานนั่นก็คือการก่อสร้าง ผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้จึงสำคัญที่สุด ในการคัดเลือกนั้น แนะนำว่าให้เลือกผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ในการสร้างโรงงานก่อนเป็นอันดับแรก เพราะการสร้างโรงงานนั้น ไม่ได้มีโครงสร้างเหมือนกับอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป ผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ด้านนี้จึงสามารถทำได้ดีกว่า
แม้ว่าผู้รับเหมาที่รับสร้างโรงงานโดยตรงจะมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างค่อนข้างสูง แต่ก็แลกมาด้วยคุณภาพตามจำนวนเงินที่ได้ลงทุนไป หากลองคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวที่ไม่ต้องมากังวลถึงปัญหาด้านโครงสร้างในอนาคต ไม่ต้องมาตามแก้ปัญหาจุกจิกที่ผู้รับเหมาอาจดำเนินการพลาด ก็นับว่าคุ้มค่าทีเดียว
4. สำรวจเรื่องอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อโรงงาน
เครื่องจักรอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ในระบบการผลิตสินค้าของโรงงาน แต่เครื่องจักรแต่ละชิ้นนั้นมีราคาสูงมาก จึงควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าให้ดีๆ ก่อนนำมาใช้ในกระบวนการผลิต
นอกจากการเลือกซื้อเครื่องจักรแล้ว อุตสาหกรรมในปัจจุบันจะเน้นไปที่การวางระบบให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงต้องมีการตรวจสอบการทำงานร่วมกันของเครื่องจักรแต่ละชนิด
อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงการวางแผนการซ่อมบำรุง เพื่อรักษาคุณภาพ และการใช้งานในระยะยาวอีกด้วย เพราะถ้าหากโรงงานของคุณต้องผลิตสินค้าต่อครั้งเป็นจำนวนมาก เครื่องจักรอาจมีการเสื่อมสภาพได้เร็วยิ่งขึ้น
5. วางระบบความปลอดภัยในโรงงาน
เป็นที่ทราบกันดีว่าการทำโรงงานนั้นจะเต็มไปด้วยเครื่องจักร และอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ มากมาย ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันอย่างอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือความผิดพลาดของอุปกรณ์ได้ การวางระบบความปลอดภัยจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องคำนึง
อย่างเช่น การติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบอุณหภูมิ ระบบไฟที่ส่องสว่างมากพอ ระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุ ชุดปฏิบัติการสำหรับพนักงาน โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีต่างๆ ยิ่งต้องยกระดับความปลอดภัยขึ้นเป็น 2 เท่า เพื่อป้องกันการรั่วไหลของเคมีออกไปยังภายนอกโรงงาน
แต่ถ้าคิดว่าไม่สามารถเก็บรายละเอียดความปลอดภัยภายในโรงงานได้ด้วยตัวเองทั้งหมด คุณสามารถว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยโรงงานมาเป็นที่ปรึกษาได้
6. คำนวณค่าใช้จ่ายว่าคุ้มหรือไม่
แน่นอนว่าการเริ่มต้นทำแรงงานนั้นมีต้นทุนในการเริ่มต้นค่อนข้างสูง เพราะต้องรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ค่าเครื่องจักร ค่าบำรุงรักษา และค่าระบบรักษาความปลอดภัย จึงต้องพิจารณาให้ดีก่อนว่าเงินทุนที่คุณมีนั้นเพียงพอต่อการสร้างหรือไม่ รวมถึงผลกระกอบการที่ออกมานั้นคุ้มค่ากับที่ลงทุนแค่ไหน และคืนทุนได้ภายในระยะเวลาเท่าไหร่
7. ธุรกิจของเราจำเป็นต้องมีโรงงานเป็นของตัวเองหรือไม่
หากอ่านมาถึงข้อนี้แล้ว ลองถามตัวเองอีกชัดๆ ว่า ตอนนี้ธุรกิจของคุณจำเป็นต้องมีโรงงานเป็นของตัวเองหรือเปล่า เพราะการทำโรงงานไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้ต้นทุนจำนวนมาก หากคุณเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ส่งของวันหนึ่งไม่เกินหลักร้อย ยังไม่มีทีม R&D ผลิตหรือพัฒนาสินค้าประจำธุรกิจ หรืออยากได้เพียงคลังสินค้าเพื่อจัดเก็บเท่านั้น
หากเป็นทั้งหมดตามที่กล่าวไป นี่อาจยังไม่ถึงเวลาที่คุณต้องทำโรงงานเป็นของตัวเองก็ได้ โดยอาจจะหาทางเลือกใหม่อย่าง เช่น เช่าโรงงาน จ้างโรงงานอื่นผลิตสินค้า หรืออาจจะซื้อพื้นที่โกดังเล็กๆ ไว้เก็บสต็อกสินค้าเท่านั้น วิธีเหล่านี้จะช่วยลดต้นทุนได้ไม่น้อย
แต่ถ้าคุณรู้สึกว่า ธุรกิจของคุณมีขนาดใหญ่เกิน ต้องใช้กำลังผลิตจำนวนมาก สินค้าเป็นที่ต้องการในตลาดสูง การมีโรงงานอาจเป็นการตัดสินใจที่ดี ที่จะทำให้ให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้เร็วกว่าเดิมได้
การทำโรงงานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบางธุรกิจ หลายคนใฝ่ฝันที่จะมีโรงงานเป็นของตัวเอง เพราะทุกกระบวนการผลิต การเก็บสินค้า และส่งสินค้าจะเป็นของธุรกิจคุณเองทันที แบบไม่ต้องไปจ้างใครเพิ่ม แต่ก็ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการทำโรงงานเป็นเรื่องใหญ่ และใช้เงินทุนจำนวนไม่น้อย
เพื่อไม่ให้เป็นการลงทุนที่เสียเปล่า หรือฉุดให้การเงินภายในธุรกิจเราขาดทุน แนะนำให้พิจารณาทั้ง 7 ข้อดังที่แนะนำไป เพื่อการเตรียมความพร้อมให้แน่ใจก่อนเริ่มต้นสำหรับคุณ