การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค 4.0 เกิดการพัฒนาของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่ไม่ได้จำกัดเพียงวิชาหลักเท่านั้น แต่ยังสามารถเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ ตามความถนัด หรือเพื่อพัฒนาทักษะเสริมในด้านต่างได้อีกด้วย
ในบทความนี้มาทำความรู้จักกับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัลกันให้มากขึ้น รวมถึงการนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานศึกษากันครับ
ทำความรู้จักกับการเรียนการสอนในยุค 4.0
เมื่อเทียบกับการเรียนการสอนในยุคเก่าที่ผู้เรียนจะต้องเข้าห้องเรียน เช็กชื่อ เรียนกับอาจารย์ ด้วยสื่อการเรียนที่เป็นหนังสือ สมุด และการเขียนกระดาน แต่เมื่อมีการพัฒนาของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้เกิดการนำสิ่งเหล่านี้มาปรับปรุงการเรียนการสอนให้เกิดความทันสมัยมากยิ่งขึ้น
4.0 คืออะไร?
หลายคนเคยได้ยินคำว่า 4.0 มาหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว แต่อาจจะยังไม่เข้าใจความหมายว่าคืออะไร เรามาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่าครับ
คำว่า 4.0 หมายถึง ลำดับการพัฒนาอุตสาหกรรมในครั้งที่ 4 โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ซึ่งหมายถึงการพัฒนาทางด้านการนำเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาใช้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โดยในประเทศไทยมีการใช้นโยบาย Thailand 4.0 เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ด้วยนวัตกรรม ซึ่งได้แก่
- การผลักดันสินค้าที่บริโภคในเชิงนวัตกรรม
- การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์
ยุค 4.0 กับการเปลี่ยนแปลงการศึกษา
เพื่อให้การเรียนการสอนตอบสนองต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในยุค 4.0 จึงทำให้การเรียนการสอนมีการใช้เทคโนโลยี รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายอย่างในระบบการศึกษา ซึ่งได้แก่
ห้องเรียนอัจฉริยะ
การเรียนรู้ในยุค 4.0 ไม่ได้จำกัดเพียงในหนังสือเรียนอีกต่อไป เมื่อมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในห้องเรียน อย่าง Smart Board หรือ Presentation ที่มีภาพประกอบ เข้ามาร่วมด้วย จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถมองเห็นภาพและทำความเข้าใจในเรื่องที่ยากได้เร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ในขณะที่มีการสอนในห้องเรียน ก็มีการถ่ายทอดสดไปยังห้องเรียนในโรงเรียนหรือสถานที่อื่นๆ ผ่านระบบการ Live ได้อีกด้วย
ระบบ E-learning และการทดสอบออนไลน์
เมื่อพูดถึงระบบการเรียนแบบ E-learning ในยุคปัจจุบันที่มีการพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองได้ง่ายผ่านทางแอปพลิเคชัน หรือ E-book โดยผู้สอนมีหน้าที่เพียงชี้แนะแนวทางในการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีระบบการทำแบบทดสอบหรือสอบย่อยที่ทำบนระบบออนไลน์ได้เลย ช่วยให้ประหยัดเวลาในการตรวจและจัดเก็บคะแนนได้อย่างรวดเร็ว
บุคลากรทางการศึกษา
ผลของการเรียนการสอนในแบบยุค 4.0 ทำให้บุคลากรทางการศึกษาเองต้องปรับตัว และวางแผนกันใหม่ เนื่องจากมีเรื่องการใช้เทคโนโลยีเข้ามารวมกับการสอนด้วย แต่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้สอนจะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจได้ง่าย ด้วยการสอดแทรกสื่อการเรียนต่างๆ เข้าไประหว่างสอนได้ไม่ว่าจะเป็น ภาพ เสียง วิดิโอ
นักเรียน นักศึกษา รวมถึงคนทั่วไป
นี่คือเหตุผลหลักที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้ทันสมัยมากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตมากผนวกเข้าด้วยกัน นั่นเพื่อให้ผู้เรียนทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา สามารถเข้าสู่ระบบของการเรียนการสอนที่เป็นรูปแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง และมีอยู่อย่างไม่จำกัดบนโลกอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ยังทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่พวกเขาสนใจเฉพาะทาง ได้มีโอกาสได้พัฒนาทักษะที่ต้องการได้ โดยที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้คือมหาวิทยาลัยชั้นนำและเว็บไซต์ที่เป็น E-learning มีการปล่อยคอร์สเรียนออนไลน์ ที่คนทั่วไปสามารถเข้าไปเรียนได้ฟรี
การนำไปปรับใช้กับสถาบันการสอน
หลังจากที่เข้าใจระบบการเรียนการสอนในยุค 4.0 แล้ว จะเห็นได้ว่าถึงเวลาสถาบันการสอนต้องปรับเปลี่ยนกันเพื่อให้รองรับการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่นี้แล้ว แต่การสอนด้วยเทคโนโลยีแบบสอนไปตามหัวข้อไปเรื่อยๆ ให้ผู้เรียนนั่งฟัง ทำแบบทดสอบท้ายบทเรียนจากนั้นเก็บคะแนนอาจจะไม่เป็นผลดีแน่ จึงจำเป็นต้องมีการทำระบบการเรียนการสอนที่ใส่ใจผู้เรียนด้วย เช่น
- การออกแบบระบบการเรียนให้รองรับอุปกรณ์ใช้งานได้หลากหลาย ทั้งบนคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน
- การใช้ระบบ Data และ Tracking ผู้เรียนรายบุคคลเพื่อติดตามว่าผู้เรียนมีความเข้าใจในเรื่องที่เรียนมากน้อยแค่ไหน รวมถึงการดึงเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการวางแผนเพื่อปรับปรุงระบบการสอนให้ดียิ่งขึ้น
- การเปิดช่องทางให้ผู้เรียนสามารถถามคำถามที่สงสัยเกี่ยวกับเนื้อหา
- การมีช่องทางให้แจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบปัญหาการใช้งานระบบการเรียน
ผลลัพธ์ของการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล
แน่นอนว่าเมื่อมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปฏิรูประบบการศึกษา ผลที่ตามมาทำให้เกิดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่มากมาย ทำให้การเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดกรอบเพียงในห้องเรียนอีกต่อไป แต่ผู้เรียนรู้สามารถเข้าถึงได้ด้วยเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังทำลายกำแพงของการจำกัดอายุของผู้เรียน ที่ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการเรียนรู้อีกต่อไป
สิ่งที่การเรียนการสอนยุค 4.0 ทำให้เกิดผลดี
ข้อดีของการใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบ 4.0 ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองได้ง่าย และการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา
1. การเข้าถึงได้จากทุกหนทุกแห่ง
เมื่อระบบการเรียนรู้เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จากที่ไหนก็ได้ ผ่านทางคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนของพวกเขา และนอกจากนี้ยังทำลายข้อจำกัดของการเรียนตามชั่วโมงเรียน เพราะผู้เรียนสามารถจัดตารางเองว่าจะเรียนตอนไหน เนื่องจากเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง
2. การเข้าถึงความรู้ได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด
การเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีทำให้การเรียนรู้นอกห้องเรียนมีอะไรให้เรียนรู้อีกมากมาย เพราะการเข้าถึงของเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่กว้างใหญ่บนอินเทอร์เน็ต และยังสามารถเลือกเรียนรู้ในวิชาที่ไม่มีสอนในห้องเรียน โดยผู้สอนนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ โดยเฉพาะ
3. ข้อมูลการเรียนรู้ที่อัปเดตอยู่เสมอ
บนอินเทอร์เน็ตสามารถอัปเดตสิ่งต่างๆ ได้ในรูปแบบ Real-Time ซึ่งนั่นหมายความว่าเนื้อหาที่ผู้เรียนจะได้พบบนอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ จะเป็นข้อมูลที่ได้รับการอัปเดตอยู่เสมอ ให้ทันต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยผู้เรียนสามารถสังเกตได้จากปีที่มีการแก้ไขล่าสุด
สิ่งที่การเรียนการสอนยุค 4.0 ยังทำได้ไม่ดี
เมื่อมีข้อดีแล้วการเรียนการสอนในยุคดิจิทัลก็ยังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงอยู่หลายด้าน เนื่องจากยังเป็นเรื่องใหม่กับหลายฝ่าย รวมถึงความเสถียรของระบบการเรียนรู้ด้วย
1. ความตั้งใจของผู้เรียนน้อยลง
สำหรับการเรียนจากระบบออนไลน์ ถ้าได้ลองนั่งเรียนเองสักบทเรียนหนึ่งจะพบว่ามีหลายสิ่งรอบตัวที่ทำให้เสียสมาธิได้ง่าย และการโฟกัสกับเนื้อหาที่เรียนนั้นยังทำได้ไม่ดีเหมือนกับตอนที่เรียนในห้องเรียน ซึ่งตรงนี้เองผู้เรียนอาจจะต้องวางแผนเรื่องการรับมือด้วยการย้ายสถานที่ไปเรียนในที่มีการบกวนน้อยที่สุด เพื่อให้มีสมาธิกับเนื้อหามากขึ้น
2. ปัญหาด้านเทคนิค
ด้วยความที่หลายสถาบันที่มีการจัดการสอน ยังคงเป็นมือใหม่ในการจัดการสอนทำให้มีปัญหาด้านเทคนิคเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น ระบบมีปัญหา พบการบัค เนื้อหาที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งทางสถาบันที่มีการจัดการสอนจะต้องหาวิธีรับฟีตแบคจากผู้เรียนเพื่อทำการแก้ไขให้สมบูรณ์
3. การสนทนาโต้ตอบที่ขาดประสิทธิภาพ
การเรียนรู้โดยเฉพาะรูปแบบออนไลน์ทำให้ผู้สอนไม่รู้ว่าผู้เรียนนั้นได้รับเนื้อหาที่สอนไปครบถ้วนหรือไม่ และตัวผู้เรียนเองก็มีโอกาสในการถามข้อสงสัยน้อย ทำให้ขาดประสิทธิภาพของการสื่อสารระหว่างผู้เรียนและผู้สอนได้ง่าย จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไข
เช่น การจัด Session ให้ผู้เรียนที่ต้องการถามคำถามได้สนทนาพูดคุยกับผู้สอนโดยตรง หรือการมีช่องคอมเมนต์เอาไว้ให้ผู้เรียนได้สนทนาโต้ตอบผ่านตัวหนังสือ
ความจำเป็นต่อการเปลี่ยนเข้าสู่การเรียนรู้ยุค 4.0
เมื่อถามถึงความจำเป็นที่หลายสถาบันการสอนต้องเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น ผมก็จะขอยกสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาเป็นตัวอย่างครับ
เราได้เห็นกันช่วงที่ผ่านมาแล้วถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามาทำให้ไม่สามารถมีการเปิดเรียนได้ตามปกติ หลายสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องสร้างระบบการเรียนรู้แบบออนไลน์ขึ้นมาแบบเร่งด่วน และตัวของผู้เรียนเองก็ยังไม่เคยชินกับการเรียนแบบออนไลน์ ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างในช่วงเริ่มต้น ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องค่อยปรับตัวและเรียนร่วมกันไป เพื่อให้การเรียนรู้ด้วยระบบออนไลน์นี้มีประสิทธิภาพมากที่สุดกับผู้เรียน
แล้วหลังจากที่ฝ่านวิกฤตนี้ไปได้ระบบการเรียนออนไลน์ ก็จะมาเป็นส่วนหนึ่งที่จะเปลี่ยนโฉมระบบการเรียนรู้ในเมืองไทยอีกด้วยครับ