[TOT]COVER14_Mobile_InsideBanner-5 innovations
SME-tips

5 นวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์
มาดู 5 นวัตกรรมที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์กันเลยครับ

การพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งของเทคโนโลยี ได้สร้างแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ไปยังหลายอุตสาหกรรม ซึ่งในโลกธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์เองก็ต้องมีการนำเองเทคโนโลยีที่พัฒนาเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบเช่นเดียวกัน

การขนส่งและโลจิสติกส์ในรูปแบบเดิมนั้นเป็นการทำงานที่ใช้ระบบ Manual จำนวนมาก รวมถึงการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่ไม่เป็นที่เป็นทาง ทำให้การจัดการข้อมูลต่างๆ ไม่เป็นระบบ เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยจัดการปัญหาเหล่านี้ จึงมีการดึงมาช่วยในการจัดการระบบโลจิกติกส์อย่าง AI, Advance Analytics และ Automation เพื่อให้การทำงานเป็นไปได้ด้วยความเร็ว และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้บนสนามที่มีการแข่งขันกันด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่ตลอด

ซึ่งหลังจากเริ่มปี 2020 มานี้ เทคโนโลยีที่เคยใช้กันอยู่ ก็เริ่มมีการพัฒนาให้มีความชาญฉลาดและทำงานได้หลากหลายขึ้น มาดู 5 นวัตกรรมที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์กันเลยครับ


1. Artificial and Augmented Intelligence

ปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานซับซ้อนมากขึ้น

หลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้เริ่มนำเอา AI หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” เข้ามาใช้งาน เช่น ระบบขนส่งอัจฉริยะ, การวางแผนการเดินทาง, การวางแผนปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของการเอาเทคโนโลยี AI เข้ามาเท่านั้น

โดยในตอนนี้ AI กำลังเพิ่มขีดความสามารถในงานโลจิสติกส์ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การส่งสินค้า, การให้บริการ, ผู้ผลิต, ลูกค้า ได้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงระบบคลังสินค้าอัตโนมัติที่ควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ ช่วยเพิ่มศักยภาพของระบบการทำงานได้มากขึ้น

รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีของ AI เข้ามาเลียนแบบความสามารถของมนุษย์ และขยายขีดความสามารถทางปัญญาของมนุษย์ เขียนออกมาเป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยเพิ่มความสามารถของระบบโลจิสติกส์ เช่น

  • การจัดลำดับการทำงาน
  • การรับรู้
  • การคาดการณ์ล่วงหน้า
  • การแก้ไขปัญหา
  • การตัดสินใจ

 

ตัวอย่าง
การรวมเอาปัญญาประดิษฐ์และปัญญาของมนุษย์เข้าด้วยกันในการวางแผนโลจิสติกส์ โดยใส่ข้อมูลการวางแผนของมนุษย์ให้กับระบบได้เรียนรู้ เช่น ประสบการณ์ ความรับผิดชอบ การให้บริการลูกค้า ความยืดหยุ่นในการทำงาน รวมถึงสามัญสำนึกต่างๆ ช่วยให้ระบบปัญญาประดิษฐ์นี้สามารถปฏิบัติงานที่มนุษย์ต้องทำซ้ำหลายรอบได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การทำงานของระบบโลจิสติกส์เป็นไปอย่างมืออาชีพ ประหยัดเวลามากขึ้น ลดความผิดพลาดของการทำงาน และประหยัดค่าใช้จ่าย


2. Real-Time Supply Chain Visibility

เข้าถึงข้อมูลโซ่อุปทานแบบเรียลไทม์

Supply Chain Visibility หรือทัศนวิสัยในโซ่อุปทานมีมาอย่างยาวนานแล้วในสายโลจิสติกส์ ซึ่งเมื่อมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูล ก็ทำให้เจ้าของธุรกิจสามารถจัดการข้อมูลของโซ่อุปทานได้แบบเรียลไทม์

Real-Time Supply Chain Visibility เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้บริษัทที่ทำธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์สามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีการอัปเดตอยู่ตลอดเวลา เช่น

  • ข้อมูลการเคลื่อนย้ายสินค้า
  • รูปแบบของการจราจร
  • สภาพอากาศ
  • สภาพการเดินทางขนส่ง
  • สภาพถนน

ซึ่งเมื่อพบปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางขนส่งสินค้า ก็สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้มาวางแผนการเดินทางขนส่งให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังสามารถใช้งาน IoT Censor มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามพัสดุ โดยจะมีการติดตั้งเครื่องมือ IoT บนพัสดุเพื่อให้ทางคลังสินค้าสามารถติดตามสินค้า หรือดูการจราจร ผ่านระบบ Cloud Services ได้ตลอดเวลา

ระบบนี้จึงช่วยให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว จากการวิเคราะห์และคาดการณ์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ จะช่วยผู้ดูแลระบบสามารถปรับเปลี่ยนและจัดการทัศนวิสัยในโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่ตลอดเวลา


3. Predictive Analytics Platform

เครื่องมือคาดการณ์ข้อมูลการขนส่งและโลจิสติกส์

ในปกติแล้วอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะการเก็บข้อมูลการทำงานเอาไว้มากมาย ซึ่งการเก็บข้อมูลในรูปแบบดั้งเดิมมักเป็นรูปแบบที่กระจัดกระจาย และมีปริมาณมหาศาลจนจัดการกับข้อมูลเหล่านี้ได้ยาก ซึ่งเมื่อมีการนำเอา Data Science เข้ามาจัดการกับคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) นี้ จะช่วยให้สามารถดึงเอาข้อมูลต่างๆ ที่เคยเก็บไว้มาใช้ประโยชน์ได้ด้วยการทำนาย

การทำนายที่ว่านี้ไม่ใช่การคาดเดาขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นการดึงเอาข้อมูลที่เคยเก็บเอาไว้ในคลังข้อมูลออกมาทำนาย โดยสร้างเป็นแบบจำลองทางสถิติที่ช่วยให้สามารถคาดการณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น จากเหตุการณ์ที่เคยมีการเก็บข้อมูลเอาไว้ เมื่อนำมาใช้กับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะช่วยให้สามารถ

  • จัดการระบบขนส่งเพื่อติดตามและจัดการการจัดส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • จัดการกับเหตุการณที่ไม่คาดคิดที่ส่งผลต่อการขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น สภาพอากาศ การขาดแคลนของสินค้า อุบัติเหตุ
  • คาดการณ์ระยะเวลาการบำรุงรักษาของเครื่องจักรและเครื่องมือ

สำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์การใช้งาน Data driven ในการตัดสินใจ ผ่านเครื่องมือคาดการณ์ข้อมูล ช่วยให้สามารถทำนายสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบ และวางแผนแก้ไขได้ทันเวลา ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและสามารถจัดการระบบขนส่งและโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


4. Digital Twins

เทคโนโลยีจำลองที่ช่วยอุดรอยรั่วของการขนส่ง

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ใช้การจำลองภาพเสมือนจริงของต้นแบบ จากการรวมเทคโนโลยีหลากหลาย เช่น AI, IoT, Cloud Computering ในการศึกษาข้อมูลเชิงลึกของวัตถุตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงคาดการณ์ผลในอนาคต เพื่อวิเคราะห์หาจุดด้อยและหาทางอุดรอยรั่วเหล่านั้นให้หมดไป

ตัวอย่าง การใช้ Digital Twins ในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพวัสดุบรรจุภัณฑ์ ซึ่งหลายองค์กรกำลังมองหาการเลือกใช้งานวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่น IKEA บริษัทเฟอร์นิเจอร์จากสวีเดน ได้เปลี่ยนแพคเกจสินค้าจากโฟมมาใช้เป็นวัสดุย่อยสลายที่ได้จากการเพาะเชื้อราของเห็ด ซึ่งสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติอย่างรวดเร็ว


5. Eco Logistics

การจัดการโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เรื่องของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก เป็นหัวข้อที่องค์กรทุกภาคส่วนรู้จักและตระหนักถึงผลกระทบมายาวนานเป็น 10 ปีแล้ว ซึ่งการขนส่งและโลจิสติกส์ ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องช่วยรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

การจัดการโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการบริหารโลจิสติกส์ในด้านที่เกี่ยวกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ตลอดโซ่อุปทาน โดยเริ่มตั้งแต่

  • แหล่งที่มาและการจัดหาวัตถุดิบ
  • การออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการ
  • กระบวนการผลิต
  • การบริการ
  • การขนส่งทั้งภายในและนอกองค์กร
  • การบริโภค

รวมไปถึงการจัดการตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ซึ่งการจัดการนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วงการโลจิสติกส์ได้ลดต้นทุน ช่วยเพิ่มความสามารถในการตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพ น่าเชื่อถือ และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ในขณะนี้เองรัฐบาลทั่วโลกก็ได้ร่วมมือกันสร้างมาตรการลดขยะจากโซ่อุปทาน ด้วยระบบ Eco Warehouse ให้หันมาใช้วัสดุทำแพคเกจสินค้าที่นำกลับมาใช้งานซ้ำ หรือซ่อมแซมกลับมาใช้ใหม่ได้

โดยประเทศในสหภาพยุโรปมีกฎให้ธุรกิจต้องทำแพคเกจที่สามารถรีไซต์เคิลได้ครึ่งหนึ่งของแพ็กเกจสินค้า ส่วนในแคลิฟอเนียมีกฎให้ทุกธุรกิจห้ามใช้ถุงพลาสติกและต้องใช้กล่องพลาสติกแบบรีไซเคิลได้ รวมถึงในญี่ปุ่นเองก็ได้มีกฎให้ทุกบริษัทใช้วัสดุในการทำแพคเกจสินค้าที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด


นี่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีในโลกของการขนส่งและโลจิสติกส์เท่านั้น หลังจากนี้เทคโนโลยีและเทรนด์นวัตกรรมก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกเรื่อย ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบได้ตรงจุดมากที่สุด