ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการใช้ชีวิตของคนเราในหลากหลายด้านตั้งแต่ การซื้อของ การติดต่อสื่อสาร การทำงาน และขับเคลื่อนธุรกิจ
นอกจากนี้แล้วยังเข้าไปพัฒนารูปแบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพด้วยการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วนำไปผลิตเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ผู้เรียนมากขึ้นในยุคดิจิทัลนี้ ซึ่งไม่ได้กำหนดเฉพาะในสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่คนทั่วไปหรือคนที่ทำงานแล้วก็ยังสามารถเข้าถึงการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะได้เช่นเดียวกัน
มาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีการศึกษา ที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ครั้งใหญ่ของคนทั่วโลก พร้อมกับ 5 เทคโนโลยีการศึกษาที่น่าจับตามองในบทความนี้กันเลยครับ
ทำความรู้จักกับเทคโนโลยีการศึกษา
เทคโนโลยีการศึกษา เป็นการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ ออกแบบ พัฒนา ดำเนินการ และประเมินผล ของสภาพแวดล้อมของการเรียนการสอนและสื่อการเรียนรู้ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นระบบของการสอนและการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้มากขึ้น เป็นเป้าหมายของเทคโนโลยีการศึกษา โดยการข้อมูลด้านการศึกษาทั้งหมดมารวมเข้ากับเทคโนโลยี เพื่อออกแบบเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุดต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
นอกจากนี้การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ร่วมกับระบบการศึกษา ยังช่วยให้สามารถแก้ปัญหาระบบการศึกษาซึ่งได้แก่
- การสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้
- ช่วยสร้างวินัยจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
- ลดอัตราการลาออกระหว่างเรียน
- ลดอัตราความรุนแรงในโรงเรียน
- การช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐานให้ทันสมัย
- การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)
โดยระบบจะนำเอาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาเข้าไปวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่สร้างปัญหาและประมวลหาหนทางแก้ไขที่เป็นไปได้ออกมา เพื่อเป็นหนทางในการนำไปแก้ปัญหาการศึกษาที่เหมาะสมกับทั้งตัวผู้เรียน รวมถึงช่วยให้สถานศึกษาได้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาระบบการเรียนรู้ด้วย
5 เทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาการศึกษา
หลังจากที่นำข้อมูลและปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาต่างๆ เข้าสู่การวิเคราะห์ จึงได้มีเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้มากมายที่ตอบโจทย์และเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมของผู้เรียน
ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองและสามารถนำไปต่อยอดทางด้านเรียนรู้อื่นๆ อีกมากมาย ได้แก่
1. การเรียนรู้แบบไฮบริด (Hybrid Learning)
การเรียนรู้แบบผสมผสานหรือแบบไฮบริด เป็นระบบการเรียนรู้ที่เปิดกว้างให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถโต้ตอบหรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกับคนอื่นๆ ได้
การเรียนรู้แบบไฮบริดไม่ได้จำกัดเฉพาะความรู้ที่จำเป็นในห้องเรียนเท่านั้น แต่รวมไปถึงความรู้ทั่วไปหรือในเฉพาะด้าน โดยผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จากทุกที่ผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น
- บทความ
- หนังสือ
- เข้าถึงระบบ E-Learning
- ฟัง Podcast
- ดูวิดิโอ
- ทำแบบทดสอบ
โดยเป้าหมายของการเรียนรู้แบบไฮบริด คือการปรับให้สภาพแวดล้อมในการเรียนนั้นมีความเหมาะสมต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนสามารถพบปะผู้เรียนคนอื่นๆ ที่กำลังเรียนรู้ในเรื่องเดียวกัน โดยสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ ตั้งคำถาม เพื่อทำความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนร่วมกัน
2. เทคโนโลยีจากเกม (Gamification)
Gamification เป็นการดึงเอาเทคโนโลยีการศึกษามาผสมเข้ากับการออกแบบเกม ที่จะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้เรียนในระหว่างการเรียนรู้ในบทเรียนหรือการเทรนนิ่ง รวมไปถึงสร้างบรรยากาศการเรียนที่สนุกสนานมากยิ่งขึ้น
การใช้เทคโนโลยีจากเกมมาประยุกต์เข้ากับการเรียน ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อสร้างความบันเทิงในการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถใส่ความเครียดหรืออุปสรรคต่างๆ เข้าไปกับสถานการณ์ของเกมได้ ซึ่ง Gamification จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะในด้าน
- ความคิดสร้างสรรค์
- การคิดวิเคราะห์
- ทักษะการประเมินสถานการณ์
การใช้ Gamification ไม่ได้กำหนดเฉพาะการใช้สอนบนสื่อดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ในการเรียนรู้ในห้องเรียนจริงได้ โดยเฉพาะการใช้กับกิจกรรมแบบกลุ่มที่ให้ผู้เรียนได้ร่วมกันแก้ปัญหาจากเหตุการณ์ที่ถูกสร้างขึ้น จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่นำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
3. การเรียนรู้แบบไมโคร (Microlearning)
เมื่อพูดถึงการเรียนรู้แบบออนไลน์แล้ว สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่กำลังเรียนรู้อยู่เป็นกิจวัตร โดยแทบจะไม่รู้ตัวเลย นั่นคือการเรียนรู้ผ่านการใช้งานสมาร์ทโฟนนั่นเอง
แหล่งเรียนรู้ขนาดเล็กหรือ Microlearning ที่ผู้ใช้งานทุกคนสามารถเลือกเรียนรู้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบคอนเทนต์ให้ความรู้ที่สั้นกระชับ ย่อยง่าย และตัวผู้เรียนเองก็สามารถเลือกเรียนรู้ในเรื่องที่เฉพาะเจาะจงได้ตามความต้อง ตัวอย่างเช่น
- การฟัง Podcast
- การดู Youtube video
- ทำแบบทดสอบสั้นๆ
การเรียนรู้แบบไมโครแม้ว่าจะไม่ใช่การเรียนรู้ที่เต็มรูปแบบ แต่เป็นการเรียนรู้แบบเกร็ดความรู้ ซึ่งทุกคนสามารถสะสมได้จากการใช้งานสมาร์ทโฟน โดยใช้เวลาสั้นๆ เพียง 10-20 นาทีก็ได้รับเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือนำไปพัฒนาทักษะในการทำงานได้เช่นกัน
4. เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing)
การพิมพ์ 3 มิติเป็นกระบวนการผลิตชิ้นงานจำลองขึ้นมา จากการสั่งพิมพ์ภาพดิจิทัลให้เป็นวัตถุที่ต้องการ โดยใช้เป็นแบบก่อนผลิตชิ้นงานจริงหรือใช้ในการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นภาพและสัมผัสกับวัตถุเสมือนจริง
งานออกแบบภาพดิจิทัลบนคอมพิวเตอร์ สามารถถูกสั่งพิมพ์ออกมาด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ทำให้ได้โมเดลที่มีรูปทรง สี ขนาด เพื่อใช้ในการเรียนรู้ในห้องเรียนได้หลากหลายแขนง เช่น
- การศึกษาประวัติศาสตร์ ที่สามารถพิมพ์วัตถุโบราณเสมือนจริง
- การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ที่สามารถสั่งพิมพ์แบบจำลองโมเลกุล
- การศึกษาด้านการแพทย์ ใช้ในการสร้างแบบจำลองอวัยวะให้ผู้เรียนได้ศึกษา
- การศึกษาด้านวิศวกรรม ผู้เรียนสามารถสั่งพิมพ์ชิ้นงานจำลองก่อนไปผลิตเป็นชิ้นงานจริง
การใช้เทคโนโลยี 3D Printing ในการศึกษา เป็นเหมือนสะพานเชื่อมต่อกันระหว่างการเรียนรู้และเทคโนโลยี ที่ช่วยให้ผู้เรียนไม่ต้องจินตนาการภาพเอง แต่ได้มองเก็นและสัมผัสกับวัตถุเสมือนจริงได้
5. การเล่าเรื่องผ่านสื่อดิจิทัล (Digital Storytelling)
การสื่อสารแบบเล่าเรื่องหรือ Storytelling มีมาอย่างยาวนานและคนส่วนใหญ่ก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีเริ่มตั้งแต่ การเล่านิทาน การเล่นละคร การเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านสื่อต่างๆ และมาจนถึงปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมกับการเล่าเรื่องให้มีความตื่นตาตื่นใจมากกว่าเดิม เช่น
- ภาพยนตร์
- วิดิโอ
- แอนิเมชั่น
- ภาพถ่าย
- ดนตรี
สำหรับ Digital Storytelling ถูกนำมาใช้ในการเรียนรู้ในห้องเรียน ผ่านการสร้างเรื่องราวด้วยตัวผู้สอนเอง หรือให้ผู้เรียนได้นำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการเล่าเรื่องราวให้กับเพื่อนร่วมชั้นเรียน โดยมีเป้าหมายคือให้ผู้เรียนสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์จากการบอกเล่าเรื่องราวด้วยวิธีที่หลากหลาย
จึงเห็นได้ว่าเทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้กับการศึกษา ทำให้การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในหนังสือเรียนเท่านั้น แต่ผู้เรียนยังสามารถเรียนรู้ได้ในรูปแบบภาพ เสียง วิดิโอ 3D พร้อมเพิ่มความตื่นเต้นด้วยการเล่าเรื่องหลายรูปแบบ และยังส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้อย่างหลากหลายอีกด้วย