ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่าโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) หรือโครงการเน็ตชายขอบ ของสำนักงาน กสทช. ซึ่ง ทีโอที ชนะการประมูล ประกอบด้วย การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) ภาคเหนือ (1) การจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ภาคเหนือ (2) และการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาคารศูนย์ USO NET จำนวน 391 แห่ง โดยในส่วนของการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งหมด ทีโอที ได้ดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 98 และอยู่ระหว่าง กสทช.ตรวจรับ ส่วนอีกร้อยละ 2 ของโครงการ ทีโอที อยู่ระหว่างการประสานงานกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องพร้อมจัดทำแผนระยะเวลาการส่งมอบงาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สำหรับการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์อาคารศูนย์ USO NET จำนวน 391 แห่งนั้น ทีโอที จะสามารถดำเนิน การได้ 329 แห่ง ส่วนที่เหลือ 62 แห่ง ทีโอที อยู่ระหว่างการประสานงานกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้ส่งแผนงานการส่งมอบทั้งหมดแก่ทาง กสทช.เรียบร้อยแล้ว
โครงการ USO เป็นโครงการสำคัญตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล ก่อเกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนในพื้นที่ให้เข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐ และช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของหมู่บ้านในการสร้างทั้งอาชีพ รายได้และการศึกษา ซึ่งคณะกรรมการ ทีโอที และฝ่ายบริหารของ ทีโอที ได้มีติดตามและกำกับดูแลให้การดำเนินการให้เป็นไปตามที่กำหนดอย่างใกล้ชิดรวมทั้งการสนับสนุนทรัพยากรทุกด้านเพื่อให้งานโครงการเน็ตชายขอบ สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการ และฝ่ายบริหารได้กระจายกำลังลงพื้นที่ที่ติดตั้งอาคารศูนย์ USO Net ไม่น้อยกว่า 12 ครั้ง รวมกว่า 36 จังหวัด “ทีโอที ทำทุกโครงการตามบทบาทและหน้าที่เต็มที่ที่ได้รับมอบหมายเต็มประสิทธิภาพทุกโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยนิ่งนอนใจในการเร่งติดตั้งและส่งมอบงานตามโครงการมาโดยตลอด เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมอย่างยั่งยืน” ดร.มนต์ชัยกล่าว ดร.มนต์ชัย ฯ เปิดเผยเพิ่มเติมถึงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวการต่ออายุสัญญาจ้าง ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาจ้าง 15 พฤศจิกายน 2562 นั้น ณ ปัจจุบันยังไม่ได้รับทราบ หรือการประสานงานในเรื่องการต่ออายุสัญญาจ้างแต่อย่างใด แต่ทาง บมจ.ทีโอที ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังเกี่ยวกับเรื่อง การจ้างและแต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ผู้บริหารเดิมพ้นจากตำแหน่ง โดยตามขั้นตอนจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน /คณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ในกรณีของผมใช้ระยะเวลาในการดำเนินการสรรหา ประมาณ 4 เดือน นอกจากนี้ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 กำหนดว่าการจะจ้างผู้บริหารเดิมต่อหลังจากครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้าง เพราะเห็นว่าผู้บริหารเดิมมีผลการทำงานดีมีประสิทธิภาพ และการจ้างผู้บริหารเดิมจะก่อให้เกิดประโยชน์ ให้เสนอต่อผู้มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งได้ โดยไม่ต้องดำเนินกระบวนการสรรหา แต่จะจ้างเกิน 2 คราวติดต่อกันไม่ได้ และผู้บริหารจะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี บริบูรณ์ และหากมีการต่ออายุสัญญาจริง ในกรณีของผมก็จะต่อได้เพียง 1 ปีกว่า ๆ ไม่ใช่ต่อ 4 ปี อย่างที่เป็นข่าว ซึ่งที่ผ่านมา ทีโอที ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดมา